กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่เหล่าทาสต้องรู้
กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่เหล่าทาสต้องรู้
หลายคนมีความคิดอยากจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงาเวลาอยู่ที่บ้านหรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ แต่การจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัวนั้น ต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่าตัวเราพร้อมแค่ไหนที่จะรับเขามาเลี้ยง โดยจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเวลาบางส่วนที่อาจต้องเสียไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงที่แสนน่ารักของเรานั้น อาจไม่ได้น่ารักสำหรับคนอื่น ตามที่เรามักเห็นในข่าวบ่อย ๆ เรื่องการปล่อยปละละเลยจนทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน ทั้งเรื่องของเสียงที่สร้างความรำคาญ ,การขับถ่ายที่ไม่เป็นที่, ไม่รักษาสุขอนามัยทำให้ส่งกลิ่นรบกวน และรวมไปถึงการทำร้ายกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คนเลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องทำการบ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงแล้วจะต้องทำการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเอาไว้ด้วย วันนี้ Homezoomer ได้รวบรวมข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมาฝากเพื่อน ๆ กัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย…
ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เหล่าทาสจะต้องรู้ หลัก ๆ มีทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
สัตว์เลี้ยง สร้างความรำคาญ/รบกวนต่อผู้อื่น
หากสัตว์เลี้ยงในการดูแลของเรานั้นไปสร้างความรำคาญ หรือรบกวนผู้อื่น อาทิ ส่งเสียงเห่าในยามวิกาล เป็นเหตุให้รบกวนเวลาพักผ่อนของเพื่อนบ้าน หรือเลี้ยงปล่อยปละละเลยไม่รักษาสุขอนามัย ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน ปัญหาเหล่านี้จะเข้าตามกฎหมายอาญามาตรา 397 “ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อน รำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท”
สัตว์เลี้ยง สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น
หากสัตว์เลี้ยงในการดูแลของเรา ไปสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น อาทิ ขับถ่ายในบริเวณบ้านคนอื่นหรือที่สาธารณะ และไม่ทำการเก็บทำความสะอาด หรือไปกัดข้าวของเครื่องใช้เป็นเหตุสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ปัญหานี้จะตรงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น”
สัตว์เลี้ยง สร้างอันตรายต่อผู้อื่น
หากสัตว์เลี้ยงในการดูแลของเราไปไล่กัดผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรือวิ่งตัดหน้ารถ จนเป็นที่มาของอุบัติเหตุ ปัญหานี้จะตรงกับกฎหมายอาญามาตรา 377 “ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราดูแล อบรมสัตว์เลี้ยงของเราให้ดี ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้นก็ไม่ต่างจากการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เพราะชะนั้นเราต้องให้การใส่ใจและการดูแลเป็นอย่างดี เพียงเท่านี้เราก็แฮปปี้ เพื่อนบ้านก็มีความสุขแล้ว…
…
เรียบเรียงโดย Homezoomer
เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com
ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer