คุยกับสถาปนิกอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน รวมศัพท์ในวงการสถาปนิกเบื้องต้น

คุยกับสถาปนิกอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน รวมศัพท์ในวงการสถาปนิกเบื้องต้น

มีหลายคนที่เมื่อต้องร่วมงานกับสถาปนิก ก็มักจะบ่นว่าคุยกับสถาปนิกไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะเราไม่มีความรู้หรือเรียนในด้านนี้มา ประกอบกับในวงการสถาปนิกจะมีคำศัพท์บางคำที่เราไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน นี่แหละอาจทำให้เราเหมือนคุยกันคนละภาษา หากอยากสื่อสารให้เข้าใจตรงกันเมื่อต้องมีการร่วมงานกับสถาปนิกแล้วล่ะก็ คุณต้องทำการศึกษาศัพท์ในวงการของเหล่าสถาปนิกด้วย งานจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น

วันนี้ Homezoomer ขอนำเสนอคำศัพท์เบื้องต้นในวงการสถาปนิก เพื่อช่วยให้การร่วมงานของเรากับสถาปนิกเป็นไปอย่างราบรื่น คำไหนบ้างที่สถาปนิดชอบใช้บ่อย ๆ ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลย…

เต็ก (Tect)

เต็ก เป็นคำที่นิยมใช้กันในวงการอสังหาฯ ซึ่งคำว่า เต็กนั้นย่อมาจากคำว่า “อาร์คิเทค” (Architect)นั่นเอง โดยมีความหมายว่า สถาปนิก ยกตัวอย่างประโยคที่ชาวสถาปนิกชอบใช้เช่น แบบเต็ก = แบบสถาปัตย์ เป็นต้น

แบบคอนฯ

สถาปนิกมักใช้เรียกแบบก่อสร้าง ซึ่งย่อมาจากคำว่า Construction ที่พัฒนามาจากคำว่า Conceptual Deisgn อีกที โดยแบบคอนฯ จะมีลักษณะเป็นแผนผังใช้ในการก่อสร้าง ที่มีการระบุรายละเอียดทีจำเป็นอาทิ ขนาด ระยะ วัสดุและดีเทลต่าง ๆ ในการก่อสร้าง

ตีฟ (Tive)

ตีฟ หรือที่เราเคยได้ยินกันมาในคำว่า ภาพตีฟ ซึ่งย่อมากจากคำว่า Perspective ในวงการสถาปัตย์ ภาพตีฟก็คือรูปภาพ 3D Rendering หรือภาพจำลองแบบเสมือนจริงของงานออกแบบนั่นเอง

สเกล (Scale)

อีกคำที่เรามักจะได้ยินจากสถาปนิกบ่อย ๆ ซึ่งหมายถึง มาตราส่วนของขนาดในการแสดงแบบต่างๆ ทั้งแบบ Drawing หรือ Model ยกตัวอย่างเช่น สเกล 1:100 ก็หมายถึงความยาว 1 เซนติเมตรในแบบ จะเท่ากับความยาวจริง 100 เซนติเมตรนั่นเอง 

นอกจากนี้คำว่า สเกล อาจยังนำมาใช้กับประโยคอื่น ๆ ในงาน เช่น สเกลเล็ก สเกลใหญ่ สเกลสวย สเกลกำลังเหมาะ เป็นต้น 

แมส (Mass)

แมส (Mass) ย่อมากจากคำว่า Massing ในวงการสถาปนิกจะมีความหมายว่า การรวมของรูปทรง หรือลักษณะของรูปทรง ซึ่งสถาปนิกจะใช้เรียกรูปทรงโดยรวมของอาคารนั่นเอง

ฟังก์ชัน (Function)

หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็หมายถึง หน้าที่การใช้งานนั่นเอง ซึ่งในวงการสถาปนิกจะไว้ใช้เรียกในการออกแบบต่าง ๆ อาทิ ห้องนี้มีฟังก์ชันอเนกประสงค์ อาจต่อเติมเป็นห้องนอนที่ 4 หรือห้องทำงาน เป็นต้น

สเปซ (Space)

หากแปลตรงตัวจะมีความหมายว่า พื้นที่ว่าง แต่หากได้ยินในวงการสถาปนิกจะหมายถึงคุณภาพและการรับรู้ของพื้นที่นั้นๆ อาทิ ‘สเปซนี้เตี้ย’ นั่นจะแปลความหมายได้ว่า ห้อง ๆ นี้ หรือ พื้นที่นี้มีความสูงจากพื้นถึงฝ้าที่น้อย หรือก็คือเพดานเตี้ยนั่นเอง

ช่องเปิด  (Void)

ช่องเปิด หรือ Void มีความหมายตรงตัวเลย นั่นก็คือการเจาะช่องให้เป็นรูทะลุในระนาบต่าง ๆ ทั้ง เพดาน กำแพง หลังคา หรือพื้น ซึ่งหาเจาะ Void ในแนวตั้ง (กำแพง) ก็จะได้ช่องประตู หน้าต่าง หรือช่องแสงธรรมชาตินั่นเอง

Double Space / Double Volume

หมายความถึง พื้นที่ที่มีความสูงต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ชั้นขึ้นไป เช่น การเจาะพื้นด้านล่างเพื่อให้มองเห็บริเวณชั้นล่างได้จากชั้นบนนั่นเอง ซึ่งในวงการสถาปนิกจะเรียกพื้นที่แบบนี้ว่า Double Space หรือDouble Volume นั่นเอง

ฟาสาด (Facade)

อ่านออกเสียงว่า ฟา-สาด สถาปนิกจะใช้ไว้เรียกเปลือกของอาคาร หรือส่วนที่อยู่นอกสุดของตัวอาคารที่อาจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผนังแท้ ๆ ของอาคาร อาจมีเพื่อสร้างความสวยงามให้อาคาร หรือสามารถออกแบบให้ช่วยกรองแสงก่อนถึงตัวอาคารเป็นต้น

เรียบเรียงโดย Homezoomer

เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 :  Hubzoomer.com

ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer