ทำความรู้จักถนน “พระราม” ทั้ง 7 สาย อยู่ที่ไหนบ้าง ?
ทำความรู้จักถนน “พระราม” ทั้ง 7 สาย อยู่ที่ไหนบ้าง ?
ชื่อ “พระราม” ตามด้วยลำดับเลขของถนนสายต่าง ๆ นั้น มีที่มาจากนามของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาล ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่โดยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถนนเส้นนั้น ๆ จะมีความเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แต่ละองค์นั่นเอง และจึงได้กลายมาเป็นชื่อถนน “พระราม (Rama)” อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้
ถนนที่ได้แต่งตั้งใหม่ และมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “พระราม” นั้น ในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 สายด้วยกัน ได้แก่
ถนนพระรามที่ 1, ถนนพระรามที่ 2, ถนนพระรามที่ 3, ถนนพระรามที่ 4, ถนนพระรามที่ 5, ถนนพระรามที่ 6 และ ถนนพระราม 9(*)
เมื่อรู้ที่มาของชื่อถนน “พระราม” กันแล้ว ต่อไปเราไปทำความรู้จักกับถนนพระรามแต่ละสายกันอย่างเจาะลึกกันบ้าง ว่าตั้งอยู่ที่ไหนอย่างไร
*หมายเหตุ ถนนพระราม 9 ไม่มีคำว่า “ที่” เนื่องจากเป็นชื่อถนนที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้ และมีพระประสงค์ไม่ให้มีคำว่า “ที่” ต่อท้ายคำว่า “พระราม” เหมือนกับถนนพระรามที่..อื่น ๆ ที่รัชกาลที่ 6 เป็นคนประทานตั้งให้นั่นเอง
📌ถนนพระรามที่ 1
แต่เดิมมีชื่อว่า “ถนนปทุมวัน” สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังวัดปทุมวนาราม ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่รัชกาลที่ 1 ที่ได้ใช้เส้นทางนี้ในการกลับจากเขมรเพื่อมาปราบการจลาจลที่กรุงธนบุรี จึงได้ชื่อว่า “ถนนพระรามที่ 1” มาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
ปัจจุบันถนนพระรามที่ 1 นั้น เรียกได้ว่าตั้งอยู่ในย่านธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะรายล้อมไปด้วยแหล่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างย่านสยามและพญาไทนั่นเอง โดยมีเส้นทางเริ่มจากบริเวณแยกกษัตริย์ศึก ผ่านคลองผดุงกรุงเกษม แยกพงษ์พระราม แยกปทุมวัน และมาสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ 2.8 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 2
ถือเป็นถนนเส้นหลักที่ใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้เลยก็ว่าได้ ในอดีตเคยมีชื่อว่า “ถนนธนบุรี-ปากท่อ” ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ต่อมารัชกาลที่ 6 ก็เปลี่ยนชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติให้แก่รัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวานั่นเอง
ปัจจุบันถนนพระรามที่ 2 ถือเป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้ในการสัญจรจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ โดยมีเส้นทางเริ่มจากจุดตัดบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านบางขุนเทียน มหาชัย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปสุดที่สามแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่า 84 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 3
แต่เดิมเคยมีชื่อที่ทุกคนเรียกว่า “ถนนเลียบแม่น้ำ” เนื่องจากมีเส้นทางยาวเลียบไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกสร้างขึ้นเมื่อยุคสมัยจอมพลถนอม ประมาณปี 2514 และต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติแก่รัชกาลที่ 3 ที่ทรงมีความสนใจในเรื่องของการค้าขาย ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับถนนเส้นนี้ที่ในอดีตใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ นั่นเอง
ปัจจุบันถนนพระราม 3 เป็นอีกหนึ่งย่านที่มีบทบาทสำคัญของกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นย่านที่รองรับการขยายตัวทางธุรกิจจากย่านสีลม สังเกตได้จากตึกสำนักงานขนาดใหญ่ของธนาคารหลายแห่ง โดยถนนพระรามที่ 3 นั้นจะมีเส้นทางเริ่มจากบริเวณสะพานกรุงเทพฯ ผ่านใต้สะพานพระราม 9 และตรงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนสุดที่แยก ณ ระนอง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ 12 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 4
ถนนเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2400 และมีชื่อว่า “ถนนตรง” จะเป็นถนนที่วิ่งเลียบกับรางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) ต่อมารัชกาลที่ 6 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่รัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้สร้างถนนเส้นนี้ขึ้นมา กลายเป็นถนนพระรามที่ 4 ที่เราเรียกและใช้เดินทางกันจนถึงทุกวันนี้
โดยถนนพระรามที่ 4 นี้ จะมีเส้นทางเริ่มจากบริเวณแยกหมอมี ผ่านแยกไมตรีจิตต์ ขนาดกับถนนพระรามที่ 1 ตรงผ่านแยกศาลาแดง คลองเตย และไปสิ้นสุดที่บริเวณแยกพระโขนง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ 9.4 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 5
เป็นถนนเลียบคลองเปรมประชากร ที่รัชกาลที่ 5 เป็นผู้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างราชวังดุสิตด้วย โดยได้ให้ชื่อว่า “ถนนลก” ต่อมารัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่โดยให้ชื่อตามรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็นผู้สร้าง และกลายมาเป็นถนนพระรามที่ 5 จนถึงทุกวันนี้
โดยถนนเส้นนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณแยกสะพานแดง ตรงเลียบคลองมาเรื่อย ๆ ผ่านโรงเรียนจิตรลดา และยาวไปจรดกับถนนลูกหลวง รวมเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 6
ถนนเส้นนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมมีชื่อว่า “ถนนประทัดทอง” ต่อมารัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่าเป็นถนนพระรามที่ 6 ที่เราเรียกกันจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
ถนนพระรามที่ 6 นี้ จะมีเส้นทางขนานกับถนนพระรามที่ 5 โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณแยกจารุเมือง ผ่านแยกพงษ์พระราม เลียบทางพิเศษศรีรัช และไปบรรจบที่ถนนเตชะวณิช รวมเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
📌ถนนพระรามที่ 7 และ ถนนพระรามที่ 8 (ไม่มี)
ปัจจุบันยังไม่มีถนนที่ตั้งด้วยชื่อพระรามที่ 7 และ 8 นะคะ แต่ที่เรารู้สึกคุ้น ๆ กันจะเป็นชื่อของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีชื่อว่าสะพานพระราม 7 เป็นสะพานที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับแขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และสะพานพระราม 8 ที่เชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี และปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในเขตพระนครนั่นเอง
📌ถนนพระราม 9
เป็นถนนสายเดียวที่ไม่มีคำว่า “ที่” ต่อท้ายคำว่าพระราม และรัชกาลที่ 6 ไม่ได้เป็นผู้พระราชทานชื่อให้ แต่ได้พระราชทานชื่อโดยรัชกาลที่ 9 เนื่องจากว่าเป็นถนนที่อยู่ในโครงการสร้างและพัฒนาของรัชกาลที่ 9 โครงการถนนจตุรทิศนั่นเอง
โดยถนนพระราม 9 นี้มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกพระราม 9 ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนรัชดาภิเษกและถนนอโศก-ดินแดง ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนรามคำแหง แล้ววิ่งขนานกับทางรถไฟ ไปสุดที่แยกต่างระดับศรีนครินทร์ เป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 9 กิโลเมตร
เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com
ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer