เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

อาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับเบิลยู ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี แม้จะเป็นอาคารสุดคลาสสิกที่ก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี แต่ตัวอาคารยังคงทันสมัย โดดเด่นตระการตาประดับทิวทัศน์ของเมืองมิวนิกมา
อย่างยาวนาน และการออกแบบที่ไร้กาลเวลาก็ยังคงตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาคารนี้จึงสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรของบีเอ็มดับเบิลยูในการสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังคงถ่ายทอดอยู่ในวิสัยทัศน์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และแฝงอยู่ในดีเอ็นเอของพนักงานทุกคนจวบจนถึงทุกวันนี้

แนวคิดการก่อสร้างแห่งอนาคต

อาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับเบิลยู เรียกว่าเป็นไอคอนผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมแห่งยุคของเมืองมิวนิก โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปีนั้น ออกแบบโดย คาร์ล ชวันเซอร์ (Karl Schwanzer) สถาปนิกชาวออสเตรียชื่อดัง ซึ่งเข้ามาพลิกโฉมการออกแบบสถาปัตยกรรมสำนักงานสมัยใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ด้วยการผสมผสานแนวคิดเชิงพื้นที่และนวัตกรรม เข้ากับการออกแบบอาคารที่โดดเด่น สะท้อนปรัชญาที่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปยึดถือ อันได้แก่ การเปิดรับต่อสิ่งใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้คน สันติภาพ ความยั่งยืน และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

การออกแบบที่เน้นความเป็นเลิศในทุกยุคสมัย

ในช่วงปี ค.ศ. 1960 เป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทจำเป็นต้องขยายโรงงานผลิตรถยนต์ รวมถึงพื้นที่อาคารสำนักงานสำหรับพนักงาน ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1968 ฝ่ายบริหารบริษัทจึงจัดการประกวดออกแบบอาคารสำนักงานใหม่และเชิญสุดยอด 8 สถาปนิกชื่อดังร่วมนำเสนอผลงาน โดยมีข้อกำหนดหลักคือ รูปแบบของอาคารจะต้องสามารถปรับให้เข้ากับสภาพปัจจุบันได้ตลอดเวลา การตกแต่งองค์ประกอบด้านหน้าอาคาร (Facade) จะต้องดูกว้างและสะดุดตาเพื่อให้แบรนด์บีเอ็มดับเบิลยูโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ และลักษณะอาคารจะต้องกลมกลืนไปกับพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน พื้นที่โรงงาน และหมู่บ้านโอลิมปิก ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในเวลานั้น

รูปลักษณ์อาคารกับดีไซน์ที่อยู่เหนือกาลเวลา

ท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดที่ได้รับการคัดเลือก คือผลงานการออกแบบของ คาร์ล ชวันเซอร์ ซึ่งใช้โครงสร้างแบบแขวน กับตัวอาคารที่มีความสูงเกือบ 100 เมตร อาคารหลักประกอบด้วยทรงกระบอกแนวตั้ง 4 มุมเรียงติดกัน รูปลักษณ์ภายนอกมีลักษณะโมเดิร์น ร่วมสมัย แฝงไปด้วยความแปลกใหม่ โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1970 ด้วยช่างก่อสร้างกว่า 500 คน พร้อมด้วยสถาปนิก วิศวกร และช่างเขียนแบบ อีกเป็นจำนวน 200 คนจาก 12 ประเทศ จนอาคารนี้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1972 สองปีนับจากวันเริ่มต้นก่อสร้าง และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1973

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

50 ปีแห่งเทคนิคการก่อสร้างแบบแขวน (Suspended Construction)

ความน่าทึ่งของอาคารนี้คือ การที่รูปทรงกระบอกเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐาน แต่แขวนอยู่บนแกนกลางของตัวอาคาร โดยก่อสร้าง “จากบนลงล่าง” ซึ่งเป็นวิธีที่ล้ำสมัยเป็นอย่างยิ่งในเวลานั้น พื้นอิสระของแต่ละชั้นถูกประกอบจากด้านล่างและยกขึ้นไปต่อเติมเป็นอาคารด้วยระบบไฮดรอลิก และประกอบแยกเป็นส่วน ๆ ขึ้นเป็นตัวอาคาร โดยอาคารสูง 99.50 เมตรนี้ มีทั้งหมด 22 ชั้น แผนผังสำนักงานรูปใบโคลเวอร์มีพื้นที่สำนักงานแบ่งเป็นสี่ส่วน แยกไปในแต่ละวงกลม สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานในสำนักงานสมัยใหม่ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นในการจัดวางพื้นที่

สถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเท่าเทียมของพนักงาน

ปัจจุบัน พนักงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประมาณ 1,500 คน ยังคงทำงานในอาคารสำนักงานใหญ่แบบเปิดโล่งแห่งนี้ ทางเดินสองทางตัดสู่แกนกลางของตึกทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่แต่ละส่วนเข้าด้วยกัน โดยระยะทางสั้น ๆ ระหว่างโต๊ะทำงานและแต่ละแผนกนี้ช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบและง่ายต่อการติดต่อประสานงานระหว่างแผนก การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เชื่อมต่อถึงกันในลักษณะนี้จึงช่วยส่งเสริมความลื่นไหลในการทำงานร่วมกัน และช่วยลดลำดับชั้นระหว่างพนักงานอีกด้วย

เดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมและเรื่องราวของแบรนด์ที่แฝงอยู่ตลอด 5 ทศวรรษ ในอาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับเบิลยู ณ เมืองมิวนิก แฝงนัยยะด้านความคิดและจิตวิญญาณความเป็นผู้นำของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปในทุกยุค นอกจากนี้ ความใส่ใจในรายละเอียดการออกแบบและการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีของพนักงาน ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัทซึ่งช่วยสร้างอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งให้กับองค์กร ในขณะเดียวกัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ก็ยังคงเดินหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยในปี ค.ศ. 2017 อาคารสำนักงานที่มีรูปทรงคล้ายกระบอกสี่สูบแห่งนี้ ได้ถูกเปลี่ยนโฉมเป็นแบตเตอรี่ไฟฟ้า เพื่อสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยุคสมัยของ “อนาคตแห่งการขับเคลื่อน” ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป

เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับเบิลยูกับห้าทศวรรษแห่งความล้ำสมัย

ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของสถาปัตยกรรมระดับไอคอนของโลก อาคารสำนักงานใหญ่ของ
บีเอ็มดับเบิลยูถูกเนรมิตให้กลายเป็นเวทีการแสดงที่มีความสูงกว่า 100 เมตร ของคณะ Bandaloop จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นักเต้นแนวดิ่ง 12 ชีวิตต้องทำการแสดงด้วยดีไซน์ท่าเต้นที่ท้าทายแรงโน้มถ่วง ซึ่งสะท้อนถึงโมเมนตัมของหัวใจที่ขับเคลื่อนเราไปสู่โลกที่น่าอยู่เพื่อคนรุ่นหลัง เช่นเดียวกับบีเอ็มดับเบิลยู ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับโลกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

รับชมภาพความประทับใจจากการแสดงในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของอาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับเบิลยู โดยคณะ Bandaloop ได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=2944204629211315

 

เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com
ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer.com