สาระน่ารู้

8 เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรป้องกันในหน้าฝน

8 เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรป้องกันในหน้าฝน

หน้าฝนที่กระหน่ำอย่างหนักลงมาทุกวันเช่นนี้ ต้องระวังการใช้งาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ดีนะคะ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากไม่ได้ตรวจเช็กสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ป้องกันให้ดี อาจทำให้เกิดไฟรั่ว ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากไปสัมผัสเข้าอาจถูกไฟดูดจนเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะหากฟ้าผ่าลงมาภายนอกอาคาร จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระชากและวิ่งมาตามสายไฟ สายโทรศัพท์ เสาอากาศ ท่อน้ำประปา ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับความเสียหายและผู้ที่กำลังใช้งานได้รับอันตราย แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องระวังการใช้งานในหน้าฝนเช่นนี้ มีอะไรบ้าง ….

  1. โทรศัพท์บ้าน อินเทอร์เน็ต :ไม่ใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ทำให้โทรศัพท์ได้รับความเสียหาย รวมถึงยังส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับอันตราย
  2. คอมพิวเตอร์ :หลังใช้อินเตอร์เน็ตแล้ว อย่าลืมถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ออกจากเต้าเสียบไฟบ้าน
  3. วิทยุ :การฟังวิทยุมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า เพราะหากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง กระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะทำให้เกิดแรงดันสูงเคลื่อนตัวไปตามสายไฟฟ้าภายในบ้านเรือน
  4. โทรทัศน์ :ควรติดตั้งเสาอากาศให้มั่นคงแข็งแรง และห่างจากแนวสายไฟแรงสูง กะระยะว่าหากเสาอากาศล้มหรือหักลงมาจะต้องไม่โดนสายไฟฟ้าแรงสูง การเปิดโทรทัศน์ในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมีความเสี่ยงสูงที่ฟ้าจะผ่าลงมายังเสารับสัญญาณโทรทัศน์ โดยเฉพาะเสาโทรทัศน์ที่มีลักษณะเป็นก้างปลาและติดตั้งในตำแหน่งที่สูงกว่าหลังคาบ้าน หากที่บ้านหรืออาคารที่อยู่ไม่ได้มีสายล่อฟ้า ก็ควรถอดสายอากาศออกจากทีวีทุกครั้ง (โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน) รวมทั้งไม่เปิดทีวีขณะที่ฝนตกฟ้าร้องด้วย
  5. เครื่องทำน้ำอุ่น :ติดตั้งต่อสายดินให้เรียบร้อย และไม่ควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นหากไม่แน่ใจว่าต่อสายดินหรือไม่
  6. เครื่องปรับอากาศ :พอเข้าหน้าฝนก็ควรมีการตรวจสอบสภาพเครื่องกันหน่อยว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะสายไฟฟ้าที่ใช้ต่อเข้ากับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องปรับอากาศต้องไม่ติดตั้งใกล้สารหรือวัตถุไวไฟ
  7. โคมไฟสนาม :ต้องหมั่นดูแลตรวจสอบสภาพเปลือกสายไฟให้ดีอยู่เสมอ ตัวเสาโคมก็ควรต่อสายกลับไปที่แผงสวิตซ์แล้วต่อลงดิน เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลลงดิน เพราะหากเกิดไฟรั่วขึ้น อาจทำให้ได้รับอันตรายได้
  8. สวิตช์กริ่งไฟฟ้า : หากมือเปียกชื้นหรือยืนอยู่ในพื้นที่แฉะไม่ควรสัมผัสกริ่งโดยตรง เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านทำให้เกิดไฟดูดได้ ทางที่ดีควรติดตั้งสวิตช์กริ่งไฟฟ้าที่กันฝน มีฝาปิด และหมั่นตรวจตราให้อยู่ในสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งาน

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและdecor.mthai.com

 เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com

ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer