ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาแทนภาษีโรงเรือนกับภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งจะมีการเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป รายละเอียดมีมายังไงบ้าง เรามาทำความรู้จักเรื่องของภาษีกันก่อน
ก่อนหน้านี้คนทำงานเหล่าพนักงานต่างก็รู้จักและเสียภาษีรายรับกันอยู่แล้ว ก็ที่หักจากเงินเดือนของคุณๆ ทั้งหลายกันทุกเดือนนั่นแหละ ซึ่งการเสียภาษีรายได้นี้ก็มีข้อยกเว้นมากมาย ซึ่งการเสียภาษีที่ดินก็จะมีรายละเอียดและข้อยกเว้นที่คล้าย ๆ กันอยู่ งั้นเรามาทำความรู้จักกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้กันเลยดีกว่า
จริง ๆ ถ้าเรามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นมีข้อยกเว้นหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อ นั่นก็คือ หากมีบ้านและที่ดินมูลค่ารวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วมีหลังเดียวเท่านั้นที่มีชื่อเราเป็นเจ้าของ แบบนี้บอกเลยว่าไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับอีกข้อหนึ่งก็คือมีบ้าน(สิ่งปลูกสร้าง) เพียงอย่างเดียว แต่อยู่บนที่ดินของคนอื่น ก็ต้องดูว่าบ้านของเรามีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทหรือไม่ หากไม่เกินก็จะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครับ ต้องบอกก่อนว่า ข้อยกเว้น 2 ข้อนี้อาจจะใช้ได้เพียงช่วงแรกเท่านั้น เพราะในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกต้องรอติดตามนะครับ
ซึ่งหลักการของการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นก็มีอยู่ว่า ใครที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เจ้าของกรรมสิทธิ์) จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น คูณด้วยอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ (ราคาประเมิน เท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์) ซึ่งราคาประเมิน จะเป็นราคาที่ภาครัฐหรือหน่วยงานราชการจะประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ให้เราเลย (สามารถโทรสอบถามได้) แล้วเอาราคาที่ประเมินนั้นไปคูณกับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ว่า ซึ่งก็จะถูกแบ่งตามประเภทการใช้งาน ซึ่งการใช้งานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะถูกแบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่
เพื่อการเกษตร
สำหรับประเภทแรกนี้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำการเกษตรในช่วง 3 ปีแรกที่มีการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ จะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็ต้องดูข้อกฎหมายและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรนั้น ๆ ด้วย ซึ่งก็ต้องรอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกมาอีกทีครับ
ที่อยู่อาศัย
และสำหรับที่ดินที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยทั้งหลายนี้ได้แก่ บ้าน บ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ก็มีข้อยกเว้นตามข้างบนที่กล่าวไว้ครับ
ประเภทอื่น ๆ
กล่าวก็คือ เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ได้ปล่อยให้รกร้าง ซึ่งอาจจะใช้งานในเรื่องเชิงพาณิชย์ ปล่อยเช่า หรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยเองของเจ้าของ ซึ่งประเภทนี้จะต้องเสียภาษีสูงกว่า 2 ประเภทด้านบนที่กล่าวมา แต่ยังไม่สูงที่สุดนะครับ
พื้นที่รกร้าง
ที่ดินรกร้างไม่ได้มีการพัฒนาหรือใช้ทำอะไรเลย จะต้องเสียภาษีแพงที่สุดเพราะถือว่าเป็นส่วนที่มีผลกระทบต่อคนหลายคนมาก ใครที่คิดจะซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรเตรียมคิดใหม่ได้เลยครับ
ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่องค์การส่วนท้องถิ่นทั้งหมดที่จะช่วยคำนวนและให้คำปรึกษาได้ แต่ถ้าหากเรารู้ข้อมูลเบื้องต้นไว้บ้างก็จะดีต่อตัวเราเองนะครับ