คู่มือพื้นฐานก่อนการวางแปลนห้องเอง ไม่ต้องพึ่งสถาปนิก
คู่มือพื้นฐานก่อนการวางแปลนห้องเอง ไม่ต้องพึ่งสถาปนิก
เจ้าของบ้านหลายคน เมื่อถึงเวลาอยากจะสร้างบ้านหรือตกแต่งต่อเติมบ้านเพิ่ม แต่ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ตัวเองต้องการให้สถาปนิกเข้าใจได้ หรือดูผัง (Plan) ไม่ออก เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการออกแบบเลย
ความรู้พื้นฐานเรื่องการออกแบบบ้านไม่ใช่เรื่องที่สถาปนิกควรรู้เท่านั้น แต่เจ้าของบ้านอย่างเราที่มีความต้องการจะทำการออกแบบหรือตกแต่งบ้านของตัวเอง อาจจะต้องมีความรู้พื้นฐานไว้บ้าง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางโครงสร้างและการใช้สอย และรวมถึงเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ ด้วย
วันนี้เราเลยนำคู่มือวางแปลนห้อง ฉบับพื้นฐาน ให้เพื่อน ๆ ทำความเข้าใจและรู้จักระบบการออกแบบของสถาปนิกมากขึ้น เพื่อนำไปใช้วางแปลนบ้านได้เองและส่งต่อให้สถาปนิก หรือหากต้องการจะปรับเปลี่ยนโดยไม่กระทบต่อโครงสร้าง ก็สามารถวาดแปลนและจ้างให้ช่างมาทำได้เลย
กำหนดเฟอร์นิเจอร์
ก่อนอื่นเลย เราต้องรู้ความต้องการของตัวเองว่าต้องการจะเพิ่มหรือตกแต่งต่อเติมอะไร ใช้งานอย่างไร และเพื่อใครด้วยการกำหนดเฟอร์นิเจอร์นั่นเอง ซึ่งการกำหนดเฟอร์นิเจอร์ก็มีหลักการอยู่ว่า ให้ดูผู้ใช้งานและพื้นที่เป็นเกณฑ์ ได้แก่ ผู้ใช้งานคือใคร วัยไหน อายุเท่าไหร่ จำนวนกี่คน ทำกิจกรรมอย่างไรและมักใช้งานเวลาไหน ถ้ายิ่งมีความชัดเจนก็จะยิ่งส่งผลให้การกำหนดเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายขึ้น ประหยัดงบเพราะไม่จำเป็นต้องเผื่อนั่นเอง
ขนาดของเฟอร์นิเจอร์
ก่อนขั้นตอนการวางแปลนห้อง เราควรรู้จักขนาดของเฟอร์นิเจอร์ก่อน และรวมไปถึงขนาดของห้องด้วย โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก ๆ ที่ต้องการจะวาง หากเรารู้ขนาดของสิ่งเหล่านี้แล้วจะยิ่งช่วยให้เราออกแบบการจัดวาง ตำแหน่ง การเว้นระยะทางเดิน ได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ลดปัญหาที่จะตามาทีหลังได้ โซฟาที่ซื้อมาขนาดไม่พอดีกับห้อง เป็นต้น
กำหนดฟังก์ชันของแต่ละห้อง
การกำหนดฟังก์ชันง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยการวาดมายแมพ (Mind Map) หรือก็การสร้างไดอะแกรม (Diagram) นั่นเอง การสร้างไดอะแกรมจะช่วยโยงความสัมพันธ์ของแต่ละฟังก์ชัน เพื่อส่งผลให้การวางแปลนห้องทำได้ง่ายขึ้น โดยฟังก์ชันจะแบ่งเป็น 3 โซนตามลำดับการเข้าถึง คือ สาธารณะ (Public Zone) กึ่งสาธารณะ (Semi-public Zone) และส่วนตัว (Private Zone) เมื่อวาดแปลนบ้านจริง เส้นโยงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นประตูหรือทางเดินที่เชื่อมถึงกันได้นั่นเอง
กำหนดทางเดิน
การกำหนดทางเดิน จะเป็นการบ่งบอกพฤติกรรมการเดินและรวมไปถึงการใช้งานของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย โดยจะกำหนดได้จาก ประตูและบันไดที่เอาไว้เชื่อมต่อไปยังห้องต่าง ๆ นั้นเอง อาทิ
- ทางเดินชิดด้านใดด้านหนึ่ง จะได้พื้นที่ใช้งานเต็มพื้นที่อีกด้านหนึ่ง
- ทางเดินบริเวณกลางห้อง จะเกิดทางเดินแบ่งการใช้งานเป็น 2 ส่วน
- ทางเดินเยื้องกัน จะเกิดทางเดินแบบทแยง แบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 2 ส่วน
ซึ่งเมื่อรู้เรื่องพื้นฐานทั้งหมดนี้ ก็จะสามารถช่วยให้เราวางแปลนห้องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งสถาปนิกเลยทีเดียว แต่ต้องระวังอย่าให้เปลี่ยนแปลงหรือมีผลต่อโครงสร้าง เพราะจะเกิดอันตรายได้ หากต้องการเปลี่ยนแปลงหรือตกแต่งต่อเติมที่มีผลต่อโครงการ แนะนำควรปรึกษาสถาปนิก หรือผู้ที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะนะครับ
..
เรียบเรียงโดย Homezoomer
เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com
ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer