TOD กับหลัก 5D ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง
TOD กับหลัก 5D ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง
การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟแบบ TOD (Transit Oriented Development) ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบพื้นที่ให้เป็นศูนย์รวมการคมนาคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงชีวิตคนเมืองและการเดินทางได้อย่างลงตัว ต่อไปนี้คือหลักในการพิจารณา 5 D ที่จะนำไปสู่การออกแบบที่ ปีเตอร์ คาลธอร์ป ผู้คิดค้นแนวคิด TOD ได้วางรากฐานแนวทางเอาไว้ในการพัฒนาเมืองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน
Density ความหนาแน่น
การจะสร้างพื้นที่ TOD นั้น ขั้นตอนแรกสุดคือ การประเมินความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ว่าอยู่ในกลุ่มใด ตั้งแต่พื้นที่ประชากรเบาบาง พื้นที่ประชาชนกรปานกลาง ไปจนถึงพื้นที่ประชากรหนาแน่นสูง เป็นตัวกำหนดการออกแบบพื้นที่นั้นอย่างเหมาะสมกับจำนวนประชากร โดยดูจากจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยในพื้นที่มีจำนวนประชากรวัยเรียน วัยทำงาน หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนเท่าไหร่
จำนวนประชากรเหล่านี้จะถูกนับเป็นจำนวนผู้โดยสาร ที่จะเข้ามาใช้บริการสถานีขนส่งสาธารณะทั้งหมด เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้าเพื่อเข้าถึงบริเวณสถานีอย่างสะดวกสบาย สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ปั่นจักรยานหรือใช้โครงข่ายทางเดินเท้า ลดการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคล
Diversity ความหลากหลายในการใช้พื้นที่
การออกแบบให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้มีความหลากหลายประเภท นับเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด TOD ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่มาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใจกลางเมือง เราจะพบว่าในพื้นที่อาคารเดียวสามารถเป็นได้ทั้ง ที่อยู่อาศัย สำนักงานเช่า ศูนย์การค้า และทางเชื่อมต่อเข้าสู่บริเวณสถานีขนส่งสาธารณะ
ในขณะที่พื้นที่ที่มีความหนาแน่นปานกลางหรืออยู่ห่างจากใจกลางเมืองออกไป จะได้รับการจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร ขณะเดียวกันต้องมีแผนรองรับการขยายตัวของเมือง ที่อาจไปถึงพื้นที่นั้นในอนาคตด้วย หรือบางพื้นที่อาจใช้เพื่อการอนุรักษ์ บางพื้นที่เหมาะสำหรับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมตามวัฒนธรรมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
Design การออกแบบพื้นที่
นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเหมาะสมแล้ว ด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมในพื้นที่หรือออกแบบภูมิทัศน์ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ความเป็นชุมชนเมือง หรือพื้นที่ศูนย์กลางระบบขนส่งสาธารณะให้มีทัศนียภาพที่สวยงามน่าอยู่อาศัย น่าเดิน
การออกแบบภูมิทัศน์นั้นตามแนวทางของ TOD นั้น ครอบคลุมการออกแบบจัดวางพื้นที่สวนสาธารณะ วางผังพื้นที่อาคารโดยดูทิศทางของแสงแดดทิศทางลมในแต่ละช่วงเวลา ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และรู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้า เส้นทางปั่นจักรยาน ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างไร้รอยต่อ และมีความสวยงาม ตลอดเส้นทางระหว่างสถานที่พัก สถานที่ทำงาน จนถึงบริเวณหน้าสถานีขนส่งสาธารณะอีกด้วย
Distance to Transit ระยะทางในการเดินทาง
นอกจากเรื่องความสวยงามของบริเวณโดยรอบ เรื่องของระยะทางเป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลยในการออกแบบตามแนวทาง TOD ที่มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงในให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนในเมืองส่วนใหญ่ต้องการการเดินทางเข้าถึงย่านต่างๆ ด้วยความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้มากที่สุด การออกแบบตามแนวทาง TOD ต้องคำนึงเรื่องระยะทางจากสถานีไปถึงย่านต่างๆ ของเมืองเป็นตัวกำหนดการสร้างเส้นทางหรือจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น จากพื้นที่ชานเมืองเดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดเพื่อเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง มีระยะทางมากกว่า 10 กม. ด้วยระยะทางที่ห่างไกลขนาดนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มักเลือกการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางเข้าตัวเมือง การออกแบบจึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง จากรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน
แต่หากพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในระยะรัศมี 600 เมตรจากตัวสถานีการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากสถานีขนส่งสาธารณะในระยะ 3 – 6 กม. จะต้องออกแบบเลนสำหรับปั่นจักรยาน พร้อมสถานที่จอดจักรยานโดยเฉพาะ
Destination Accessibility ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่
สุดท้ายซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญตามแนวทางในการพัฒนาแบบ TOD ที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยคือความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของเมืองโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นย่านการค้า ย่านสำนักงาน ย่านศูนย์ราชการ ย่านที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยวจะต้องมีเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่เหล่านี้โดยประชาชนสามารถเปลี่ยนรูปแบบ หรือจุดเชื่อมต่อการเดินทางไม่เกิน 3 ครั้งก็สามารถถึงปลายทางที่ต้องการได้เช่นเริ่มต้นการเดินทางด้วยสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วเปลี่ยนจุดเชื่อมต่อการเดินทางเป็นสถานีรถไฟฟ้าบนดิน เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถเดินทางถึงสถานที่ที่ต้องการไป ทำให้ผู้ใช้บริการไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง สะดวกรวดเร็วไม่แพ้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล
เมื่อการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็วสะดวกสบายยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเมือง จับจ่ายใช้สอย เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ทางอ้อมอีกด้วย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นได้ว่าการพัฒนาทั้ง 5D ตามแนวทาง TOD นั้น มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะชีวิตคือการเดินทาง หากเราสามารถทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันราบรื่นมากเท่าไหร่ ประชาชนก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
เว็บไซต์ ประกาศ ซื้อ ขาย บ้าน มือ1 มือ2 : Hubzoomer.com
ติดตามข่าวสาร รีวิวบ้านและคอนโด สาระน่ารู้ : Homezoomer.com